ข่าวสาร

สมาคมไทยบล็อกเชนออกแถลงการณ์ ห่วงกฎหมายสกุลเงินดิจิทัล

สมาคมไทยบล็อกเชน โดยดร.ประเวทย์ ตันติสัจจธรรม เลขาธิการสมาคมไทยบล็อกเชน ได้ออกแถลงการณ์ในนามสภาคมไทยบล็อกเชน โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตัวแทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และตัวแทนกรมสรรพากร ให้เข้าพบเพื่อชี้แจงและขอให้ทบทวนการประกาศใช้กฎหมายสกุลเงินดิจิทัล ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 1 สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ทางสมาคมฯ ขอกราบขอบพระคุณในความกรุณาที่ทุกท่านเสียสละเวลาเพื่อรับฟังปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการประกาศใช้กฎหมายสกุลเงินดิจิทัลจากสมาคมฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคประชาชน นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้รับฟังมุมมองเชิงธุรกิจ ข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายท่าน ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศไทยทั้งสิ้น

ผลจากการเข้าชี้แจงดังกล่าว สมาคมฯ รู้สึกเป็นกังวลใจอย่างมากทั้งในแง่ของผู้ประกอบการ Startup รวมถึงการศูนย์เสียโอกาสความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี Blockchain และการเป็นผู้นำเศรษฐกิจใน South East Asia จึงใคร่ขอแสดงความคิดเห็นผ่านทางแถลงการณ์ฉบับนี้ กล่าวคือ

ทุกเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย สิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศคือการส่งเสริมข้อดีและขจัดข้อเสีย ธุรกิจสกุลเงินดิจิทัลเองก็มีข้อดีมากมายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมที่โปร่งใสตรวจสอบได้ การเป็นแหล่งระดมทุนในรูปแบบ ICO (Initail Coin Offering) ให้เหล่า Startup หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอจะกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในต้นทุนที่ต่ำและในระยะเวลาที่รวดเร็ว อันเป็นการส่งเสริมให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีไทยได้อย่างก้าวกระโดด และหากมองในมุมที่จะส่งเสริมการลงทุนให้กับ Startup ของคนไทยก้าวกระโดดแข่งขันกับเวทีโลกได้ก็น่าจะจัดให้เป็นหมวดธุรกรรมเฉพาะที่ได้รับทำการยกเว้นภาษีเหมือนการส่งเสริมจาก BOI  ซึ่งหากทำได้ก็จะทำให้ดึงดูดชาวต่างชาติจากทั่วโลกย้ายถิ่นฐานมาลงทุนในเมืองไทยมากขึ้น ทำให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และทำให้ให้เมืองไทยสามารถเป็นศูนย์กลางของ ICO และBlockchain ได้อีกด้วย

กฎหมายยังคงยืนยันให้ใช้ระบบการยืนยันตัวตนลูกค้าเพื่อเปิดใช้บริการต้องใช้วิธี Face-to-Face KYC เท่านั้น ทั้งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ยอมรับการทำ KYC ผ่านทาง Video Conference (E-KYC) ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2559 (ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส.7/2559) หากยังยืนยันในการใช้ Face-to-Face KYC ก็จะส่งผลให้คนต่างชาติซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลได้ยาก ทั้งที่การยืนยันตัวตนของลูกค้าด้วยวิธี Face-to-Face KYC ก็ได้รับการยืนยันตามหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับว่ายังมีการสวมสิทธิบุคคลอื่นเปิดบัญชีธนาคารอยู่เป็นประจำ  นอกจากนี้ปัจจุบันอัตราการฟอกเงินด้วยสกุลเงินดิจิทัลก็ลดลงอย่างมากเป็นลำดับ และเข้าสู่ยุคการออกสกุลเงินดิจิทัลโดยมีสินทรัพย์หรือโครงการขนาดใหญ่รองรับเพื่อจ่ายผลตอบแทน ดังนั้น การมีความเชื่อว่าการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลเป็นเพียง “บ่อนการพนัน” จึงอาจไม่ถูกต้องนัก

สมาคมฯ ขอกราบเรียนว่าการจัดเก็บภาษีเงินได้ของประเทศไทยยังเป็นอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศแต่หากมีวิธีการเก็บภาษีที่ไม่ลงตัวหรือผิดวิธีกันตั้งแต่ตลาดเงินดิจิทัลยังไม่ทันเติบโตก็จะทำให้เกิดปัญหามากมายและจะทำให้เกิดการยับยั้งการเติบโตของธุรกิจ Startup โดยปริยาย อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจึงมิได้เป็นข้อโต้แย้งในการจัดเก็บ แต่การจัดเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 ยังคงเป็นปัญหาอยู่ในทางปฏิบัติ กล่าวคือ สมาคมฯ มิได้เป็นปัญหาที่อัตราภาษี แต่มีปัญหาที่วิธีการจัดเก็บภาษี การที่ผู้ออกกฎหมายมีทัศนคติว่าลักษณะธุรกิจแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลเหมือนหรือคล้ายกับธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ (Forex) นั้น สมาคมฯ ขอกราบเรียนว่ายังมีความแตกต่างกันมากในเชิงภาษีอากร เนื่องจากสกุลเงินของ Forex อ้างอิงราคากลาง ทำให้สามารถเปรียบเทียบผลกำไรขาดทุนได้โดยง่าย แต่สกุลเงินดิจิทัลไม่มีราคากลาง และราคาในแต่ละเว็บไซต์ก็อาจมีราคาที่แตกต่างกันมาก จึงไม่อาจนำราคาใดราคาหนึ่งมาพิจารณาเปรียบเทียบได้ ลักษณะเช่นนี้จึงมีลักษณะคล้ายกับการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่ราคาจะปรับเปลี่ยนตามอุปสงค์อุปทาน แต่ธุรกิจแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลกับการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ก็ยังมีความแตกต่างกัน เนื่องจากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นการซื้อขายกับเงินบาท ทำให้รู้ผลกำไรขาดทุนที่ชัดเจนเมื่อมีการแลกเปลี่ยน แต่การแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลมีทั้งการแลกเปลี่ยนกับเงินบาทและการแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินดิจิทัลด้วยกัน ซึ่งการแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินดิจิทัลด้วยกันยังคงมีปัญหาเรื่องราคากลางที่ไม่อาจนำราคาใดราคาหนึ่งมาตีราคาได้ จากการสอบถามในที่ประชุม กรมสรรพากรยังคงไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในเรื่องการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 โดยเฉพาะหากผู้แลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินดิจิทัลด้วยกัน ไม่มีเงินบาทอยู่ในระบบ การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย อาจต้องบังคับให้ผู้แลกเปลี่ยนขายสกุลเงินดิจิทัลเพื่อนำไปชำระภาษีซึ่งกฎหมายมิได้เปิดช่องให้ผู้ให้บริการสามารถบังคับขายได้ และการบังคับให้ขายสกุลเงินดิจิทัลมีลักษณะเป็นการเทขายอาจทำให้ราคาสกุลเงินดิจิทัลผันผวนอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นการแทรกแซงอุปสงค์อุปทานของตลาด

ทั้งนี้ทางสมาคมฯ ขอกราบเรียนว่า สมาคมฯ มีจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมให้บุคคลทุกคนต้องเสียภาษีให้แก่ประเทศไทยในอัตราที่เหมาะสมและภายใต้วิธีการจัดเก็บภาษีที่เอื้อต่อสภาพธุรกิจโดยมีการคำนึงถึงผลดีและผลเสียในแง่ของเศรษฐศาสตร์อีกด้วย สมาคมฯ อยากจะขอวิงวอนภาครัฐให้ศึกษาลักษณะธุรกิจและพิจารณาแนวทางการควบคุมและจัดเก็บภาษีให้เข้าใจอย่างถ่องแท้มากยิ่งขึ้นก่อนที่จะประกาศใช้กฎหมาย เพราะเมื่อกฎหมายฉบับดังกล่าวประกาศใช้แล้ว อาจเป็นการทำลายโอกาสและบรรยากาศดี ๆ ในการส่งเสริมการลงทุนของ Startup ที่จะมีโอกาสแข่งกับเวทีโลกให้หายไปได้ในทันที หากแต่อย่าลืมว่ายุคนี้คือยุคเทคโนโลยีที่ไร้พรมแดน กลุ่มทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศพร้อมที่จะย้ายถิ่นฐานเงินทุนและเทคโนโลยีที่ทันสมัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ตลอดเวลาซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี Blockchain และผู้นำทางเศรษฐกิจในยุค 4.0 อีกครั้ง และคงเป็นการยากที่ประเทศไทยจะสามารถช่วงชิงโอกาสดี ๆ และผลประโยชน์ที่ได้รับจากเทคโนโลยีกลับมาได้อีก