ข่าวสาร เศรษฐกิจโลก

สำนักงานเศรษฐกิจการคลังชี้แจงประเด็นโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

18 ก.ค. 2560 

ตามที่ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ ระบุว่าได้ใช้เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยแล้วกว่า 9 แสนล้านบาท โดยอยากให้ชี้แจงรายละเอียดดังนี้ 1) โครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยกว่า 9 แสนล้านบาท นำไปใช้ในเรื่องใดบ้าง เหตุใดประชาชนผู้มีรายได้น้อยกลับไม่รู้สึกว่าดีขึ้น กลับยิ่งแย่ลง ซึ่งน่าจะเป็นการใช้เงินไม่ถูกทาง จึงไม่ได้ผล 2)เมื่อรัฐบาลลดการช่วยเหลือเกษตรกร ทำให้เศรษฐกิจโตได้เพียง 3% กว่า แต่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์มีกำไรเพิ่มขึ้นถึง 30% ซึ่งแสดงว่าการเติบโตส่วนใหญ่กระจุกอยู่กับบริษัทใหญ่และคนรวย ส่วนเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยไม่ได้รับประโยชน์และมีรายได้ลดลง นั้น

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า กรณีโครงการและมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็งขึ้น จึงถือว่าเป็นการใช้เงินผ่านสินเชื่อและงบประมาณ เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่สำคัญสามารถแบ่งได้เป็น 2 ด้าน
1) ด้านสินเชื่อ มีมาตรการที่สำคัญ เช่น มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำนวน 9 โครงการ จำนวนเกษตรกร 11.6 ล้านราย วงเงิน 465,099 ล้านบาท มาตรการพัฒนายางพาราทั้งระบบ จำนวน 6 โครงการ วงเงิน 46,750 ล้านบาท มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง จำนวน 8 โครงการ จำนวนเกษตรกร 256,980 ราย วงเงิน 24,096 ล้านบาท มาตรการสนับสนุนสินเชื่อกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 1 โครงการ 1,255,232 ราย 22,675.66 ล้านบาท มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรและส่งเสริมวินัยทางการเงิน จำนวน 6 โครงการ จำนวน เกษตรกร 2,526,307 ราย วงเงิน 36,012 ล้านบาท และมาตรการเพิ่มขีดความสามารถภาคการเกษตร และส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกล จำนวน 4 โครงการ จำนวนเกษตรกร 15 กลุ่ม วงเงิน 49,258 ล้านบาท เป็นต้น
2) ด้านงบประมาณ มีมาตรการที่สำคัญ เช่น มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง 6 โครงการ 49,563 ล้านบาท มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 3 โครงการ จำนวนเกษตรกร 285,962 ราย วงเงิน 88,286 ล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย จำนวน 7.5 ล้านราย จำนวนเงิน 17,469 ล้านบาท เป็นต้น
ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ผ่านสินเชื่อและงบประมาณส่งผลให้เศรษฐกิจในระดับฐานรากมีความเข้มแข็งขึ้น สะท้อนได้จากการขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคสินค้าคงทน ได้แก่ รถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์ ที่ขยายตัวได้ดีทุกภูมิภาค 

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ชี้แจงต่อไปอีกว่า รัฐบาลไม่ได้ลดการช่วยเหลือเกษตรกรลง แต่กลับมีการคิดโครงการและมาตรการเพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลังเพื่อประคับประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจฐานราก อีกทั้งรายได้เกษตรกรในปัจจุบันยังขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่า การเติบโตไม่ได้กระจุกตัวเฉพาะภาคธุรกิจห้างร้าน แต่ภาคเกษตรยังขยายตัวได้ดีกว่าช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ภาครัฐยังคงให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรเนื่องจากมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และประชากรส่วนใหญ่ของประเทศประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยในปีการผลิต 2560/61 ภาครัฐได้มีโครงการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างต่อเนื่องและครอบคลุมพืชเศรษฐกิจสำคัญ ซึ่งมุ่งเน้นให้เกษตรกรมีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต เชื่อมโยงตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งให้ความรู้แก่เกษตรกร เพื่อให้ภาคเกษตรกรรมมีการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2560/61 เช่น โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP โครงการประกันภัยข้าวนาปี เป็นต้น โครงการสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรรวบรวมยางพาราเพื่อนำไปแปรรูปรอการจำหน่าย โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลังในระบบน้ำหยด มาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อลงทุนสร้างแหล่งสำรองน้ำและการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน
นอกจากนี้รายได้เกษตรที่แท้จริง (ไม่รวมผลของเงินเฟ้อ) ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2560 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 17.5 ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวด้านปริมาณผลผลิต (ในขณะที่ปี 2559 หดตัวร้อยละ -0.2 ต่อปี) และเป็นอัตราการขยายตัวต่อเนื่องทุกภูมิภาคของประเทศไทย และเป็นการรักษาทิศทาง (Momentum) การขยายตัวของการผลิตภาคเกษตรที่ดีต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ที่ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 7.7 สูงกว่าไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 3.0 เท่านั้น โดยได้แรงขับเคลื่อนจากการดำเนินโครงการต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรอย่างเข้มข้น สะท้อนให้เห็นว่า การเติบโตไม่ได้กระจุกตัวเฉพาะภาคธุรกิจห้างร้าน แต่ภาคเกษตรยังขยายตัวได้ดีกว่าช่วงที่ผ่านมา
ขอบคุณแหล่งข่าว: thainews

หวังว่า ท่านน่าจะได้รับประโยชน์จากบทความนี้มากขึ้น

ถ้าชอบก็กดไลค์ กดแชร์ แบ่งปันให้เพื่อนๆ เราได้รับทราบด้วยนะครับ

———————————————————————————————————————————————————————