Reviews Altcoin

รู้จัก “Blockchain” ในฉบับเข้าใจง่าย

เมื่อพูดถึง Fintech (เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเงิน) สิ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ Blockchain เทคโนโลยีที่กำลังมาแรงสุดๆ ณ ขณะนี้ หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า Blockchain มาหลายครั้ง หากใครอ่านหลายบทความแล้วยังไม่เข้าใจซักที  เรามาลองทำความเข้าใจ Blockain กันอีกสักครั้ง ในแบบฉบับที่เข้าใจง่าย ๆ ตัดส่วนของเทคนิคทิ้งให้ได้มากที่สุด

แต่ก่อนที่จะเริ่มในเนื้อหาของ Blockchain สิ่งที่อยากให้ทุกคนเข้าก่อนก็คือระบบธนาคารแบบดั้งเดิมในทุกวันนี้ เป็นระบบแบบรวมศูนย์กลาง (Centralized) คือมีธนาคารเป็นคนกลาง เป็นศูนย์รวมในการจัดการระบบทุก ๆ อย่าง เช่น ธนาคารเป็นผู้จัดการข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับบัญชีของเรา ตั้งแต่ เปิดบัญชี ฝากเงิน ออมเงิน ถอนเงิน เป็นต้น ข้อเสียของระบบนี้คือ ความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของข้อมูลทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับคนกลางหรือธนาคารเป็นหลัก

ดังนั้นระบบ “Blockchain” จึงถูกพัฒนาขึ้นมาจากข้อเสียจุดนี้ คือ แทนที่เราจะฝากชีวิตด้านการเงินของเราทั้งหมดไว้กับธนาคารเพียงผู้เดียว (มีสมุดบัญชีส่วนตัว และฝากให้ธนาคารเป็นผู้จัดการตรวจสอบความถูกต้องทั้งหมด) รายการเดินบัญชีหรือข้อมูลทั้งหมดของเราจะเป็นสาธารณะ (Public Ledger) และแจกจ่ายให้ทุกคนในเครือข่าย (Network) คนละฉบับ โดยทุกคนที่อยู่ในเครือข่ายต้องช่วยกันยืนยันความถูกต้องของข้อมูล คล้าย ๆ ระบบสหกรณ์ หรือระบบประชาธิปไตยที่ทุกคนมีส่วมร่วม มีอำนาจออกเสียง

ระบบแบบนี้จะตรงข้ามกับแบบรวมศูนย์กลาง (Centralized) และเรียกว่าระบบกระจาย (Distributed) โดยจำนวนบุคคลใน Network จะขึ้นอยู่กับประเภทของ Blockchain ซึ่งมีทั้งแบบสาธารณะ (Public) ที่คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ แบบส่วนตัว (Private) ที่เป็นระบบที่ใช้ในองค์กรเท่านั้น และแบบสมาคม (Consortium) ที่ใช้เฉพาะในเครือข่ายองค์กรหนึ่ง ๆ เช่น ธนาคาร เป็นต้น

เมื่อเราทราบการทำงานของระบบธนาคารแบบดั้งเดิมกันไปแล้ว รวมถึงรู้จักการทำงานแบบรวมศูนย์กลาง และกระจายศูนย์ ก็ถึงเวลาที่เราจะเจาะลงไปใน Blockchain กันบ้างว่าทำงานอย่างไร  สาเหตุที่ Blockchain เป็นระบบที่สามารถลดแนวโน้มความเสี่ยงการโจรกรรมเพราะด้วยความที่มันทำงานแบบเป็นห่วงโซ่ (Chain) ต่อกันนี่แหละ ลองคิดภาพง่าย ๆ ว่าเรามีบล็อกของเล่นตั้งอยู่ และทุกบล็อกมีกลไกเชื่อมต่อกันดังภาพข้างล่าง

หากเราต้องการขยับบล็อกใดบล็อกหนึ่ง บล็อกที่ขยับต้องส่งสัญญาณ (signal) เรืองแสงให้บล็อกอื่นๆรู้ว่ามีข้อมูลเปลี่ยนแปลง และบล็อกอื่นๆก็ต้องส่งสัญญาณเรืองแสงตอบเพื่อยืนยันว่าข้อมูลถูกต้องก่อน  มิเช่นนั้นเราจะไม่สามารถขยับบล็อกได้  เมื่อโจรแอบบุกเข้าไปหวังจะขยับบล็อกใดบล็อกหนึ่งในปราสาท หากขยับบล็อกเพียงบล็อกเดียว ทั้งปราสาทจะเรืองแสงวูบวาบส่งสัญญาณต่อกันเพื่อเช็คความถูกต้อง วิธีนี้จึงทำให้การขโมยบล็อคหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลเป็นไปได้ยาก

หรือพูดโดยสรุปได้ว่า การเปลี่ยนแปลงข้อมูลทางการเงินใด ๆ (Transaction) ต้องมีการยืนยันจากทุกคนในระบบ (Network) ก่อนว่าข้อมูลนั้น ๆ ถูกต้อง ข้อมูลจึงจะได้รับการอนุมัติและไปเรียงต่อในระบบบล็อกได้

ไม่เพียงเท่านี้ระบบ Blockchain ยังมีผู้ตรวจสอบอีกขั้นหนึ่ง เนื่องจากการโอนย้ายข้อมูลดิจิตอล (Digital Transaction) อาจเกิดการส่งข้อมูลเดียวกันให้ผู้รับมากกว่า 1 คนในเวลาเดียวกันได้ (Double Spending) ความหมายของ Double Spending คือ สมมติว่าเรามีดอกไม้ 1 ดอก หากเราอยากจะยื่นให้ใคร เราก็จะยื่นดอกไม้ดอกนั้น ให้คน ๆ นั้นได้คนเดียว แต่เมื่อการส่งดอกไม้ให้กันอยู่ในรูปแบบดิจิตอล เช่น ไฟล์ภาพดอกไม้ เราก็สามารถส่งภาพดอกไม้ทางอีเมลล์ หรือ Line ให้หลายคนได้ในเวลาพร้อมกัน  ด้วยเหตุนี้ Blockchain จึงต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “ผู้ตรวจสอบการทำธุรกรรมซ้อน” หรือ Miner ซึ่งเป็นบุคคลที่ถูกเลือกขึ้นมาในเครือข่ายของ Blockchain นั้น ๆ

แม้ Blockchain อาจดูเป็นศัพท์ที่ไกลตัวสำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวงการการเงินแถมยังเป็นระบบที่เข้าใจยากอยู่สักหน่อย แต่การมาของ Blockchain ก็สามารถบอกเทรนด์หลาย ๆ อย่างในอนาคตที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคนได้  เช่น  การนำ Blockchain มาใช้จัดการเรื่องภาษีและช่วยให้กลุ่มผู้อพยพสามารถส่งเงินข้ามประเทศได้ง่ายมากขึ้นในบางกรณีที่ธนาคารมีข้อจำกัด หรือการนำเทคโนโลยี Blockchain มาช่วยในระบบจัดส่งสินค้า (Supply chain)

เป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูกันต่อไป ว่ารัฐบาลและวงการสถาบันการเงินจะยินยอมให้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และ Fintech เข้ามา Disrupt วงการ การเงินหรือไม่และเทคโนโลยี Blockchain จะเป็นที่ยอมรับในวงกว้างแค่ไหน แต่แน่นอน “รู้ก่อน ได้เปรียบกว่า”