Reviews Altcoin

โลกของฟินเทคหรือ Financial Technology Blockchain

โลกของฟินเทคหรือ Financial Technology เวลานี้ดูเหมือนจะให้น้ำหนักกับเทคโนโลยี Blockchain เป็นเทคโนโลยีหลักที่สถาบันการเงินนำมาพัฒนาต่อยอดได้

อย่างกว้างขวางไม่ใช่แค่การโอนเงินระหว่างประเทศเท่านั้น

ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด บริษัทในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ที่ทำหน้าที่ศึกษาและพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน เปิดเผยว่า นอกจากความร่วมมือกับบริษัทRippleผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยีBlockchainโดยมีวัตถุประสงค์ในด้านการลงทุน การศึกษา เพื่อทดลองนำเทคโนโลยีนี้มาเชื่อมโยงกับโครงข่ายการทำCross Border Paymentหรือระบบการโอนเงินข้ามประเทศแบบเรียลไทม์ให้เกิดขึ้นจริง บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาเทคโนโลยีบล็อกเชนที่จะนำมารองรับความต้องการลูกค้าของธนาคารไทยพาณิชย์โดยเฉพาะลูกค้าผู้มีความมั่งคั่ง ที่มีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เพชร หรือสินทรัพย์อื่นๆ แม้จะไม่ใช่ธุรกรรมทางการเงินหรือฟินเทคโดยตรง แต่ก็จะคัดเลือกสตาร์ทอัพที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าในการลงทุนเหล่านี้เพื่อเสนอเป็นทางเลือกให้ลูกค้าได้ด้วย

หากถามว่าบล็อกเชนคืออะไร  “สุวิชชา สุดใจ” Managing Director, Digital Productsบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด อธิบายถึง  Blockchain หรือ DLT(Distributed Ledger Technology) ว่าที่ผ่านมาคนจะรู้จักแต่สกุลเงินดิจิทัลหรือCrypto-Currency โดยเฉพาะ Bitcoin ที่ได้รับความนิยมในการโอนเงินชำระเงินด้วยปริมาณธุรกรรมสูงสุดของโลกตามมาด้วยสกุล Ethereum ของไมโครซอฟท์ และอันดับสามคือ Ripple

ซึ่งจริงๆ แล้วBitcoinเป็นเพียงหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่นำเอาเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการดำเนินการเท่านั้น   แต่บล็อกเชนคือระบบการทำงานบนฐานข้อมูลออนไลน์ประเภทหนึ่ง ที่ใช้ระบบการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบที่อนุญาตให้สมาชิกในระบบทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลนั้นได้ มีส่วนคล้ายคลึงกับอินเทอร์เน็ตในแง่ของการเก็บข้อมูลที่เอื้อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ โดยบล็อกเชนสามารถแบ่งได้เป็น2ประเภท ได้แก่Public Blockchain ที่อนุญาตให้ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลในระบบได้อย่างเท่าเทียมกัน เช่นกรณีของBitcoin และPrivate Blockchain ที่เปรียบเสมือนอินทราเน็ต (Intranet)ที่จำกัดสิทธิ์ให้เฉพาะบุคคลหรือบางหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตจากทางระบบในการเข้าถึงข้อมูลนี้ได้ซึ่งธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่จะเกิดในPrivate Blockchain

แต่ไม่ว่าจะเป็นPrivate BlockchainหรือPublic Blockchain การอัพเดทข้อมูลจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อมีการตกลงและเห็นชอบร่วมกันระหว่างบุคคลส่วนใหญ่ที่อยู่ในระบบเดียวกันเท่านั้น  เมื่อข้อมูลถูกบันทึกลงในระบบแล้ว ข้อมูลนั้นจะไม่สามารถถูกลบทิ้งได้ จากเดิมที่ข้อมูลต่าง ๆ จะถูกเก็บไว้ที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น

“เช่นการโอนเงินที่ต้องทำผ่านตัวกลางอย่างธนาคารพาณิชย์ และธนาคารจะเป็นผู้เก็บข้อมูลนั้นไว้ ไม่มีใครเข้าไปตรวจสอบได้หาก แต่บล็อกเชนเป็นระบบจัดเก็บข้อมูลที่สมาชิกในกลุ่มจะเห็นและจัดเก็บข้อมูลชุดเดียวกันนั้น ดังนั้นนอกจากความรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ธุรกรรมที่เกิดขึ้นในบล็อกเชนจะปลอดภัยโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ เพราะเมื่อข้อมูลถูกบันทึกในระบบบล็อกเชนแล้วจะไม่สามารถแก้ไขได้ในภายหลัง”

และเมื่อBlockchain เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยลดบทบาทของตัวกลางลง โดยแต่ละสมาชิกในบล็อกเชนจะมีฐานข้อมูลระหว่างกันได้ทั้งหมดโดยที่ไม่ต้องมีตัวกลางในการจัดเก็บ  ธุรกรรมที่สามารถใช้ Blockchain นอกจากการโอนเงินข้ามประเทศแล้ว ยังสามารถต่อยอดไปถึงการตรวจสอบเพชร โฉนดที่ดิน หรือทรัพย์สินมีค่าอื่น ๆ ที่จะถูกจัดเก็บข้อมูลการซื้อขายเปลี่ยนมือ และรับประกันความถูกต้องได้ สร้างความมั่นใจให้ผู้ซื้อผู้ขายได้ในอนาคต  เช่น  Everledger ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพที่ใช้บล็อกเชนเข้ามาใช้ในธุรกิจเพชรที่ต้องมีการตรวจสอบใบเซอร์ ซึ่งรายละเอียดของใบเซอร์เหล่านี้จะถูกจัดเก็บในระบบของ Everledger ที่ผู้ซื้อผู้ขายสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ว่าเป็นเพชรแท้หรือใบเซอร์ของจริงหรือไม่

ธนายังกล่าวถึงความคืบหน้าในการนำบล็อกเชนมาพัฒนาระบบการโอนเงินข้ามประเทศผ่านบล็อกเชนให้เป็นแบบเรียลไทม์ รวมถึงธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ(Trade Finance) โดยในขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างกระบวนการตัดสินใจเลือกหาโซลูชั่นสุดท้ายที่จะทดลองการทำธุรกรรมในระบบบล็อกเชนของริพเพิล โดยคาดว่าจะใช้เวลา 1-2 เดือนในการหาข้อสรุปก่อนจะเสนอต่อธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ให้พิจารณาก่อนจะเริ่มทดลองจริง ซึ่งจะเป็นการทดลองภายในธนาคาร ก่อนจะเปิดให้ลูกค้าใช้บริการในอนาคต โดยมีเป้าหมายว่าจะต้องมีต้นทุนที่ถูกลง มีความรวดแร็วและมีประสิทธิภาพ  โดยในขณะนี้การโอนเงินผ่านบล็อกเชนของริพเพิลใช้เวลาเพียง 10 วินาที